ท่าน้ำราชวงศ์ ย่านกรุงเก่าในกทม. ที่มีจุดท่องเที่ยวหลากหลาย

ท่าน้ำราชวงศ์


ท่าน้ำราชวงศ์ คึกคักตั้งแต่เช้า เพราะนอกจากผู้คนที่สัญจรไปมาในย่านนี้จะเดินทางโดยเรือเป็นหลักแล้ว ยังเป็นบริเวณของท่ารถประจำทางด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวว่าบริเวณนี้เป็นอีกศูนย์รวมเส้นทางการคมนาคมแบบโอลด์สคูลก็คงไม่ผิดนัก และการเริ่มต้นเส้นทางเดินท่องเที่ยวชมอาคารบ้านเรือนย่านเยาวราช-สำเพ็ง-ทรงวาด ก็เริ่มต้นตรงนี้ได้ด้วยเช่นกัน

เสน่ห์ย่านจีน
ถนนทรงวาด ตั้งอยู่ ณ จุดตัดของถนนเจริญกรุงและถนนราชวงศ์ เป็นถนนสายตรงขนานไปกับริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้นเพื่อลดความแออัดของย่านชุมชนสำเพ็งในสมัยก่อน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 “ทรงวาด” ถนนเส้นนี้ขึ้นมาด้วยพระองค์เองจนเป็นที่มาของชื่อที่ใช้จนถึงปัจจุบันนี้

Walking BKK เดินเท้าชมย่านเก่ากรุงเทพฯในสมัยก่อน ท่าน้ำราชวงศ์ จัดเป็นท่าจอดเรือสุดท้ายที่คนภายนอกจะสามารถเข้าจอดเพื่อขนส่งสินค้าและขนส่งแรงงาน รวมถึงการขนส่งแรงงานชาวจีนโพ้นทะเล และพวกเขายังเชื่อว่าตรงนี้เป็นท่าเรือมงคล เพราะขึ้นมาแล้วก็จะเจอกับ ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง พอดี ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะก่อนจะออกไปหางานทำ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่าถนนทรงวาดนั้นมีร่องรอยของวัฒนธรรมจีนอยู่เต็มไปหมด โรงเรียนเผยอิง ที่อยู่ด้านหลังของศาลเจ้าเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

โรงเรียนเป็นอาคารขนาด 3 ชั้น มีสถาปัตยกรรมแบบเรเนสซองส์ เต็มไปด้วยรายละเอียดแบบฝรั่งอยู่ในทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่รูปปั้นตรงราวบันไดไปจนถึงหน้าบัน ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นและรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปัตยกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2545 โรงเรียนนี้ขึ้นชื่อว่าผลิตเจ้าสัวมาแล้วหลายต่อหลายคน และเปิดทำการเรียนการสอนให้กับลูกหลานชาวจีนแต้จิ๋วมาจนถึงทุกวันนี้

ศูนย์รวมวัฒนธรรม
ถึงแม้ว่าจะเป็นถนนที่มีความผูกพันกับย่านจีนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร แต่ก็ต้องยอมรับว่าทรงวาดมีการผสมผสานของวัฒนธรรมอันหลากหลาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเดินทางทำมาค้าขายของผู้คนจากต่างที่ต่างถิ่น ต่างความเชื่อ เห็นได้ชัดเจนจาก มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดเพียงหนึ่งเดียวของย่านนี้

หากไม่ใช่ช่วงเวลาทำศาสนกิจ มัสยิดหลวงโกชาอิศหากมักจะเงียบสงบ อาคารสีเหลืองสง่างามนี้ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ลานกว้างด้านหลังอาคารเป็นแหล่งพำนักสุดท้ายของชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ ซึ่งเปิดกว้างให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเดินชมได้ ทางเข้ามัสยิดอยู่ติดกับร้านโรงกลั่นเนื้อ จะมีภาพสตรีทอาร์ตสีสันสดใส ลายจานชามแบบจีนเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเดินมาถึงแล้ว

อีกจุดหนึ่งนั้นอยู่ไม่ไกลจากท่าน้ำราชวงศ์ ตรงบริเวณหัวมุมของถนนทรงวาดพอดิบพอดี จะมองเห็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่กับระเบียงไม้สีเขียวซีดตามกาลเวลา อาคารนี้มีชื่อเรียกที่ติดปากกันว่า “ตึกแขก” ซึ่งเดิมเป็นร้านค้าของนักธุรกิจชาวอินเดีย

สถาปัตยกรรมแบบมุสลิม หน้าต่างไม้ฉลุที่โดดเด่นออกมาจากอาคารบ้านเรือนอื่นๆ ในละแวกนี้ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลด้านการค้าของชาวมุสลิมอินเดียที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน ซึ่งทุกวันนี้เราก็ยังพบเห็นได้จากบรรดาร้านขายผ้า ขายเพชร ขายพลอยของพวกเขาที่ยังคงเป็นหนึ่งในสีสันของย่านการค้าในปัจจุบัน

เดินชมช็อปเฮาส์
ตึกแถวร้านค้าริมสองฝั่งถนนที่เรียกว่าอาคารแบบ ช็อปเฮาส์ (Shophouse) หรือ บ้านร้านค้า บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและการค้าที่รุ่งเรืองของย่านนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยลักษณะของอาคารห้องแถว ชั้นล่างเปิดเป็นร้านค้า ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย

ช็อปเฮาส์บริเวณนี้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป จึงพอจะอนุมานได้ว่าอาคารบ้านเรือนเหล่านี้มีเอกชนเป็นเจ้าของอยู่หลายเจ้าเลยทีเดียว ถ้ามาเดินเล่นในวันนี้ก็จะเห็นทั้งร้านค้าเก่าแก่ที่ดำเนินกิจการมาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอุตสาหกรรมวุ้นเส้นไทย เจ้าของ 3 แบรนด์วุ้นเส้น คือ ตราหิมะ ตราสายฝน และตราน้ำค้าง บริษัท ส.ไทยฮวด กิจการขายวัตถุดิบ เครื่องเทศ สมุนไพร และธัญพืชที่เปิดมานานกว่า 50 ปี บริษัทเจริญเลิศทวี ขายวุ้นและวัตถุดิบดับร้อนที่ดำเนินกิจการมาระดับ 50 ปีเช่นกัน ห้างหุ้นส่วนฯ ชัยทวีหนึ่งในร้านขายส่งถั่วเก่าแก่รับจากเกษตรกรโดยตรง นักท่องเที่ยวก็สามารถแวะมาตักถั่วสดๆ ที่นี่ได้ด้วย รวมถึงร้านเครื่องเคลือบตรากระต่ายของโรงงานอุตสาหกรรมภาชนะเคลือบ ผู้ครองตลาดเครื่องครัวไทยมานานกว่า 68 ปี ก็ตั้งอยู่บนถนนนี้ด้วยเช่นกัน

แต่ช็อปเฮาส์ที่เป็นจุดเช็กอินอันดับหนึ่งบนถนนสายนี้ต้องยกให้กับ ตึกผลไม้ กลุ่มตึกแถวสีขาวที่สวยที่สุดบนถนนทรงวาด หากถามว่าสวยที่สุดเพราะอะไร? ต้องเงยหน้าขึ้นไปมองศิลปะประดับปูน ลวดลายเถาวัลย์และผลไม้ที่อยู่เหนือบานหน้าต่างชั้นสอง ซึ่งมีความละเอียดลออสวยงามอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แบบ ส่วนบริเวณชั้นล่างนั้นมีการเดินทางเข้ามาของผู้ประกอบการรุ่นใหม่มากหน้าหลายตา เช่น Arteasia คาเฟ่ที่นำเสนอเครื่องดื่ม อาหาร และขนมผ่านวัตถุดิบในย่านนี้ กับไฮไลต์ตรงหน้าต่างบานกระจกสีที่ปล่อยให้แสงแดดลอดเข้ามาเป็นสีสันงดงามไปทั่วทั้งร้าน

ทรงวาดมีชีวิตชีวาอีกครั้งจากการเดินทางเข้ามาของคนรุ่นใหม่ และไม่ได้มีแค่คนไทยเท่านั้น ที่ Mesa 312 สตูดิโอศิลปะในตึกผลไม้นี้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ก่อตั้งโดยมิเรียม รูเอดา ดีไซเนอร์ชาวสเปน เปิดให้นักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเวิร์กช็อป ชมนิทรรศการขนาดย่อม ซื้อของที่ระลึก ไปจนถึงเรียนภาษาเลยก็ยังได้

ย่านเก่าในวันใหม่
ไม่ใช่แค่การเข้ามาของ Arteasia หรือ Mesa 312 เท่านั้น ทุกวันนี้บนถนนทรงวาด มีร้านค้า คาเฟ่ โรงแรม โฮสเทล รวมถึงแกลเลอรีเกิดใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น PLAY Art House แกลเลอรีสีน้ำเงินเข้มที่เปลี่ยนโกดังรองเท้าเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการศิลปะหมุนเวียน ร้านอีกา LAB อาหารไทยในเครือ อิสแฮพ_เพ่น กับเมนูอาหารไทยเข้าใจง่ายที่ใครๆ ก็คุ้นเคย ร้านเอฟ.วี คาเฟ่ขายขนมและเครื่องดื่มจากวัตถุดิบไทยๆ ที่ไม่เป็นที่นิยม เช่น น้ำลางสาด ชาไมยราบ Bad Poutine ร้านขายพูตินหรือมันฝรั่งทอดราดซอสเกรวีแบบแคนาเดียนกับบรรยากาศร้านสบายๆ เหมือนกำลังแคมปิงกับเพื่อนๆ และ Hostel Urby โฮสเทลริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกๆ ที่บุกเบิกถนนสายนี้ที่มาพร้อม Woodbrook Bangkok คาเฟ่กับระเบียงวิวแม่น้ำสวยๆ และ Barbon ที่เปิดให้บริการค็อกเทลจิบ เคล้าคลอไปกับบรรยากาศยามค่ำคืนอันแสนเงียบสงบ

Walking BKK เดินเท้าชมย่านเก่ากรุงเทพฯ

ส่วน ถนนวานิช 1 ที่เดินเท้าไปได้ในเวลาไม่กี่นาทีก็เป็นที่ตั้งของ โพทง ร้านอาหารจีน-ไทยไฟน์ไดนิงติดดาวมิชลินของเชฟแพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ และ ร้าน Casa Formosa Taiwan Tea House ร้านน้ำชาแบบไต้หวันของชาวไต้หวันตัวจริงเสียงจริง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *